ฉุยฉายวันทอง เป็นชุดการแสดงรำเดี่ยวตัวนางที่สวยงามอีกชุดหนึ่ง อยู่ในการแสดงละคร เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ กล่าวถึง ความรัก ความผูกพันของผู้เป็นมารดาที่ถ่ายทอดออกมาทางลีลาท่ารำเมื่อแปลงร่างเป็นหญิงสาวงาม เนื้อเรื่องกล่าวถึงนางวันทองที่ตายไปเป็นเปรต สงสารลูกชายที่จะต้องไปออกรบจึงแปลงกายเป็นหญิงสาวแรกรุ่นเพื่อจะห้ามทัพ แต่เมื่อพระไวยเห็นหญิงงามจึงเกิดหลงรักและเข้ามาเกี้ยวพาราสี นางวันทองจึงกลายกลับเป็นร่างเดิมและสารภาพว่าเป็นมารดาของพระไวยเอง

ประวัติความเป็นมา
ฉุยฉายวันทอง อยู่ในการแสดงละคร เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ เนื้อเรื่องกล่าวถึง ขุนแผนแค้นใจพระไวยผู้เป็นบุตรชายที่ไปหลงเสน่ห์นางสร้อยฟ้า จึงคิดกับพลายชุมพลบุตรชายอันเกิดจากนางแก้วกิริยาธิดาเมืองสุโขทัย นัดแนะให้พลายชุมพลปลอมตัวเป็นมอญใหม่ และผูกหุ่นฟางเสกเป็นไพร่พลมอญยกทัพเพื่อมาตีกรุงศรีอยุธยา โดยพลายชุมพลยกเข้ามาตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลเดิมบาง ครั้นพระพันวษาทรงทราบก็ตรัสสั่งให้ขุนแผนกับเจ้าเมืองสุพรรณบุรี ร่วมกันยกทัพไปปราบปรามขุนแผนกับเจ้าเมืองสุพรรณบุรี ร่วมกันยกทัพไปตั้งค่ายรับอยู่ ณ ตำบลนางบวช (ใต้ตำบลเดิมบางลงมา) แล้วขุนแผนกับพลายชุมพลต่างก็ใช้อุบายติดต่อให้สัญญาณกัน พอตกกลางคืนใกล้รุ่ง พลายชุมพลจึงยกทัพหุ่นเข้าตีค่ายของขุนแผนและเจ้าเมืองสุพรรณบุรี ขุนแผนทำทีขี่ม้าเข้าต่อสู้ตีฝ่าข้าศึก แล้วทำเป็นเพลี่ยงพล้ำให้ข้าศึกจับตัวไปได้ ครั้นเจ้าเมืองสุพรรณบุรีเห็นขุนแผนถูกจับไป กองทัพก็แตกพ่าย กลับมาทูลข่าวแด่พระพันวษา ด้านขุนแผนกับพลายชุมพลก็เคลื่อนกองทัพหุ่นยกล่วงมาตั้งอยู่ ณ ชายป่าในเขตบ้านตาลาน ชานกรุงศรีอยุธยา พระพันวษาออกว่าราชการทรงทราบเรื่องกองทัพมอญใหม่ที่จับตัวขุนแผนไป ทรงกริ้วมากตรัสสั่งให้ไปตามเจ้าหมื่นไวยวรนารถ หัวหมื่นมหาดเล็ก ลูกชายของขุนแผนมา เมื่อเจ้าหมื่นไวยวรนารถรู้เรื่องก็ตกใจ จึงรีบรับอาสาทันที เส้นทางที่กองทัพพระไวยจะผ่านไปนั้นเป็นป่าเปลี่ยว นางวันทองที่ต้องโทษประหารชีวิตไปแล้ว แต่ด้วยความอาลัยรักต่อพระไวยผู้เป็นบุตร เมื่อรู้ว่าพระไวยจะยกกองทัพผ่านมาทางนี้ จึงแปลงร่างเป็นนางงามขับร้องเพลงเล่นชิงช้าคอยทีอยู่ใต้ต้นไทรใหญ่ เมื่อพระไวยผ่านมาได้ยินเสียงขับร้องของสตรี จึงสั่งให้หยุดกองทัพแล้วลงจากม้าเดินไปตามเสียง ก็พบนางงามรุ่นเจริญวัยกำลังเล่นชิงช้า และขับร้องเพลงอยู่อย่างสบายใจ พระไวยจึงเดินเข้าไปหาและเกี้ยวพาราสี

การถ่ายทอดท่ารำฉุยฉายฉุยฉายวันทองมีประวัติพอสังเขปดังนี้ นางเฉลย ศุขะวณิช ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฎศิลป กรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) ปีพุทธศักราช 2530 เป็นผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดกระบวนท่ารำฉุยฉายวันทองมาจากหม่อมครูนุ่ม นวรัตน์ ณ อยุธยา เมื่อครั้งฝึกหัดละครอยู่ที่วังสวนกุหลาบ นางสาวจำเรียง พุธประดับ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฎศิลป กรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) ปีพุทธศักราช 2531 เป็นผู้ได้รับการถ่ายทอดกระบวนท่ารำฉุยฉายวันทองมาจากหม่อมครูต่วน (นางศุภลักษณ์ ภัทรวานิก) ดังปรากฏข้อมูลจากหนังสือ กรมศิลปากร (2551, หน้า 105)

บทร้อง
บทร้องฉุยฉายวันทอง อยู่ในการแสดงละคร เรื่องขุนช้างขุนแผน ตอนพระไวยแตกทัพ

ปี่พาทย์ทำเพลงรัว
– ร้องเพลงฉุยฉาย –

ฉุยฉายเอย เจ้าช่างจำแลงแปลงกายงามคล้ายบุษบา
หน้าเป็นใยเหมือนไข่ปอก เจ้าทัดแต่ดอกจำปา
โอ้พระไวยสายใจ อีกสักเมื่อไรจึงจะมา
ฉุยฉายเอย เยื้องย่างเจ้าช่างกรายลอยชายมาในดง
รู้ว่าพ่อไวยจะไปทัพ แม่มาคอยรับคอยส่ง
ชะกระไรหนอใจบิดา จะแกล้งฆ่าให้ปลดปลง

– ร้องแม่ศรี –

แม่ศรีเอย แม่ศรีสาคร
ร่างเจ้าเอี่ยมอรชร เหมือนกินนรไกรลาศ
ใส่กรอบพักตร์ประดับเพชร บั้นเอวเจ้าจะเด็ดขาด
จมื่นไวยจงใจสวาท ด้วยโฉมประหลาดตาเอย
แม่ศรีเอย แม่ศรีสาวหงส์
เยื้องย่างมากลางดง เหมือนหนึ่งหงส์เหมราช
ผิวเจ้างามเมื่อยามพิศ งามจริตเมื่อยามผาด
อ่อนระทวยนวยนาด เยื้องยาตรมาเอย

– ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว – ลา –

ดนตรี
วงปี่พาทย์ไม้แข็งหรือปี่พาทย์เครื่องห้า ประกอบด้วย ระนาด ฆ้องวง ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง และปี่ใน เพลงที่ใช้ประกอบการแสดง ได้แก่ เพลงรัว เพลงฉุยฉาย เพลงแม่ศรี เพลงเร็ว และเพลงลา
เพลงรัว เป็นเพลงหน้าพาทย์เบื้องต้น ใช้สำหรับการแสดงฤทธิ์หรือการเกิดปรากฏการณ์โดยฉับพลัน
เพลงฉุยฉาย เป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบกิริยาของตัวโขนและละครแสดงถึงความภาคภูมิใจในความงาม
เพลงแม่ศรี เป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบการแสดงกิริยาสนุกสนาน ร่าเริง แสดงอารมณ์และความภาคภูมิใจในความงาม
เพลงรัว เป็นเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบการแสดงกิริยาการเดินอย่างนวยนาด
เพลงลา เป็นเพลงหน้าพาทย์ที่บรรเลงต่อจากเพลงเร็ว เมื่อจบการรำ การแต่งกาย

รูปแบบการรำ

๑. ออกด้วยเพลงรัว รำท่าสอดสร้อยมาลา แล้วป้องหน้า
๒. บทร้อง รำตีบท ตามคำร้องฉุยฉายและแม่ศรี
๓. จบเพลงเร็ว – ลา รำตามทำนองเพลง

เครื่องแต่งกาย
ผู้แสดงแต่งกายนุ่งผ้าจีบหน้านางสีม่วง ตามบทประพันธ์ ชายพกด้านซ้าย ห่มสไบผ้าตาดทองมีชายห้อยทางขวา สวมศิราภรณ์กระบังหน้า
การแต่งกายแบบยืนเครื่องตัวนาง ดังนี้

๑. กระบังหน้า อุบะ ดอกไม้ทัด
๒. เกี้ยว และปิ่นปักผม
ภ. สไบผ้าตาดทองลายม่วง
๔. ผ้านุ่ง (สีม่วง)
๕. จี้นาง
๖. พาหุรัดหรือกำไลต้นแขน
๗. สะอิ้งหรือสร้อยตัว
๘. เข็มขัด
๙. กำไลข้อมือหรือกำไลแผง
๑๐. กำไลข้อเท้า