ระบำศรีวิชัย เป็นระบำชุดที่ ๒ ในระบำโบราณคดี อยู่ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๘ มีอาณาเขตตั้งแต่ภาคใต้ลงไปจนถึงดินแดนของประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซียยางส่วนปัจจุบัน ระบำศรีวิชัยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ตนกู อับดุล รามานห์ อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ได้แต่งเรื่อง Raja Bersiyong ซึ่งเป็นเรื่องราสเกี่ยวกับอาณาจักรศรีวิชัย และได้เชิญคณะนาฏศิลป์ไทย ไปแสดงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ กรมศิลปากรได้จัดการแสดง ๒ ชุด คือ รำชัดชาตรี และระบำศรีวิชัย
โดยระบำศรีวิชัยนี้มอบให้ นางลมุล ยมะคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร และนางเฉลย ศุขะวณิช ผู้เชี่ยวชาญการสอนนาฏศิลป์ไทย วิทยาลัยนาฏศิลป กรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นาฏศิลป์) ปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ เป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำ นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง(ดนตรีไทย) ปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ เป็นผู้แต่งทำนองเพลง โดยอาศัยหลักฐานจากศิลปกรรมภาพจำหลักที่สถูปบุโรพุทโธในเกาะชวา ซึ่งเชื่อกันว่าอยู่ในสมัยราชวงศ์ไศเลนทร์ อันเป็นยุคเดียวกันกับสมัยศรีวิชัย สร้างขึ้นในราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๘ การแต่งทำนองเพลง กระบวนท่ารำ และเครื่องแต่งกาย ประดิษฐ์ขึ้นจากลักษณะที่ปรากฏอยู่บนภาพจำหลักผสมกับท่วงท่าของนาฏศิลป์ชวา เรียกว่า ระบำศรีวิชัย และได้นำไปแสดงเพื่อถ่ายทำภาพยนตร์ ณ กรุง กัวลาลัมเปอร์ และนครสิงคโปร์ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๐
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๐ ได้มีการปรับปรุงระบำศรีวิชัยใหม่ทั้งกระบวนท่ารำและทำนองเพลงบางตอน เพื่อให้เข้ากับระบำโบราณคดีอีก ๔ ชุด สำหรับนำออกแสดงให้ประชาชนชมในงานดนตรีมหกรรม ณ สังคีตศาลา เมื่อวันที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๐ และได้แสดงถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทอดพระเนตรในงานเสด็จพระราชดำเนินทางเปิดการแสดงศิลปะโบราณวัตถุในอาคารสร้างใหม่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๐ โดยมีนายสนิท ดิษฐพันธ์ ออกแบบเครื่องแต่งกาย นางชนานันท์ ช่างเรียน สร้างเครื่องแต่งกาย นายชิต แก้วดวงใหญ่ สร้างศิราภรณ์ และเครื่องประดับ

รูปแบบ และลักษณะการแสดง

ระบำศรีวิชัย เป็นการรำหมู่ประกอบด้วยผู้แสดง ๖ คน ท่ารำประดิษฐ์ขึ้นโดยเลียนแบบจากภาพจำหลักผสมกับท่ารำของนาฏศิลป์ชวา ทำให้เกิดความสวยงามของท่ารำที่มีความผสมกลมกลืน และมีลักษณะเฉพาะของการใช้มือ เท้า ศีรษะ

การรำแบ่งเป็นขั้นตอนต่าง ๆ ได้ดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑            รำออกมาตามทำนองเพลง
ขั้นตอนที่ ๒            ทำท่ารำตามกระบวนเพลงช้า และเร็ว จนจบกระบวนท่า
ขั้นตอนที่ ๓            ทำท่าจบด้วยการไหว้ในช่วงท้ายของเพลง แล้วรำเข้าเวที

เครื่องแต่งกาย

เครื่องแต่งกายของระบำศรีวิชัย ประกอบด้วย
๑. เสื้อรัดอกสีเนื้อ
๒. นุ่งโสร่งปาเต๊ะจีบหน้านางแถวหนึ่งสีเขียว อีกแถวหนึ่งสีแดง
๓. ผ้าคาดรอบสะโพก นุ่งสีแดงคาดสีเขียว นุ่งสีเขียวคาดสีแดง
๔. ผ้าสไบเฉียงสีเดียวกับสีคาดสะโพกเย็บติดกับแผ่นโค้งบนไหล่ซ้าย ติดสร้อยตัวริมแผ่นโค้ง ๒ เส้น
๕. โบว์เส้นเล็กสอดไว้ใต้เข็มขัด
๖. เครื่องประดับ ประกอบด้วย เข็มขัด สร้อยคอ ต่างหู ต้นแขน กำไล ข้อมือ
๗. ศีรษะ เกล้าผมมวยไว้ท้ายทอย ใส่เกี้ยว ปักปิ่น
๘. กระบังหน้า

ดนตรี และเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง  

ใช้วงดนตรีที่มีลักษณะเฉพาะ เครื่องดนตรีประกอบด้วย กระจับปี่ ฆ้อง ๓ ลูก ซอสามสาย ขลุ่ย ตะโพน กลองแขก ฉิ่ง ฉาบ

เพลงที่ใช้ประกอบการแสดง
ได้แก่ เพลงศรีวิชัย (เที่ยวช้า และเที่ยวเร็ว)