การแสดงชุดนี้เป็นผลงานสร้างสรรค์ของ นักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธ์ ชั้นสูงปีที่ 1ในความควบคุม ดูแล และให้คำปรึกษา ของ ครู จารุชา จันทสิโร ครูภาควิชา โขน วิทยาลัยนาฏศิลปกาฬสินธ์(ปัจุบันดำรงตำแหน่งอยู่ที่ วิทยาลัยนาฏศิลป อ่างทอง) สร้างขึ้นในปี 2538 โดยนำเอาเค้าโครงจากภาพจำหลักสมัย ทวารวดีที่พระธาตุ ยาคู อำเภอ กมลาไสย จังหวัด กาฬสินธ์มาประดิษฐ์เป็นท่ารำ ผู้คิดประดิษฐ์ทำนองเพลงคือ ครู เปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติ

ประวัติความเป็นมา

เมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรือง มีความอุดมสมบูรณ์ผู้ปกครองเมืองคือพญาฟ้าแดด มีพระมเหสีชื่อ “พระนางจันทาเทวี”(เขียวค่อม) มีพระธิดาชื่อ “พระนางฟ้าหยาด” เป็นผู้ที่มีพระสิริโฉมงดงามมาก เป็นที่หวงแหนของพระราชบิดา-มารดา พญาฟ้าแดดให้ช่างสร้างปราสาทเสาเดียวไว้กลางน้ำ โดยใช้ศิลาแลงในการก่อสร้างบริเวณนี้ปัจจุบันเรียกว่า “โนนฟ้าแดด” นอกนั้นยงมีการขุดสระไว้รอบเมือง มีคูค่ายและเชิงเนิน มีหอรบอย่างแข็งขัน สระที่ขุดไว้ในปัจจุบันเป็นหนองน้ำสาธารณะ เมืองลูกหลวงของเมืองฟ้าแดดคือ เมืองสงยาง มอบให้อนุชาชื่อ พญาอิสูรย์ (เจ้าฟ้าระงึม) เป็นผู้ครองเมือง เมืองทั้งสองห่างกันประมาณ 2 กิโลเมตร เลยรวมเรียกว่า “เมืองฟ้าแดดสงยาง” เมืองเชียงโสม เป็นเมืองหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับเมืองฟ้าแดด มีพญาจันทราชเป็นผู้ปกครองจัดให้มีเทศกาลเล่นหมากรุก และตีหิงคลี ใครแพ้-ชนะ ก็จะส่งส่วยกินเมืองตามประเพณี ครั้งหนึ่งพญาจันทราชได้ออกล่าสัตว์ และต่อไก่ มุ่งหน้าลงทางใต้ จึงถึงหนองเลิง ได้หลงทางเข้าไปในอุทยานของนางฟ้าหยาด เมื่อพญาจันทราชพบหน้านางฟ้าหยาดก็ชอบพอ ต่อมาพญาจันทราชเดินทางกลับเมืองเชียงโสมได้มอบให้ขุนเล็ง ขุนดาน นำเครื่องบรรณากาารมาสู่ขอนางฟ้าหยาด แต่ไม่สำเร็จ พญาจันทราช จึงได้เคลื่อนขบวนทัพมาตีเมืองฟ้าแดดสงยาง โดยขอความช่วยเหลือไปยังเมืองเชียงสง เชียงสา เชียงเครือ ท่างาม น้ำดอกไม้ สาบุตรกุดอก ให้ส่งกองทัพมาช่วยฝ่ายพญาฟ้าแดด เมื่อทราบข่าวก็ขอความช่วยเหลือไปยังผู้ปกครองเมืองสงยางผู้เป็นอนุชาให้มาช่วยรบ เมื่อเกิดสงครามมีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก พญาจันทราชสิ้นพระชนม์บนคอช้าง แม่ทัพนายกองเห็นดังนั้นก็ยอมแพ้ นางฟ้าหยาดเมื่อทราบข่าวก็มีความเสร้าโศกจนสิ้นชีวิตบนปราสาทกลางน้ำ ต่อมาพญาฟ้าแดดก็ให้ นำศพนางฟ้าหยาด และศพพญาจันทราช บรรจุลงในหีบทองคำ ตกแต่งอย่างสมพระเกียรติ และให้สร้างเจดีย์คู่เป็นอนุสรณ์ไว้ (ปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกของโนนเมืองฟ้าแดดสงยาง) ก่อนที่จะบรรจุอัฐิของนางฟ้าหยาดกับพญาจันทราช ได้รับสั่งให้ช่างหลอพระพุทธรูปและเทวรูปทองคำ จำนวน 84,000 องค์ ประกาศให้ชาวเมืองฟ้าแดดสงยางหล่อหรือสร้างพระพุทธรูปทุกครัวเรือน โดยให้หล่อหรือสร้างด้วยทองคำ อิฐ หิน หรือดินเผาแล้วแต่ศรัทธา แล้วบรรจุไว้ในเจดีย์คู่ เพื่อเป็นการบูชาและล้างบาปที่กระทำไว้ จากนั้นได้มอบให้พญาธรรมไปครองเมืองเชียงโสม ส่งสวยแก่เมืองฟ้าแดดเป็นประจำทุกปี จากตำนานที่เป็นเรื่องเล่าขานสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน อาจจะมีความคลาดเคลื่อนแต่ก็คงแฝงไว้ด้วยความจริงไว้บ้าง

วิดีโอการแสดง