ประวัติความเป็นมา รำบายศรีสู่ขวัญ

การแสดงชุดรำบายศรีสู่ขวัญ เป็นการแสดงของภาคอีสาน ซึ่งใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญหรือเชิญขวัญในการต้อนรับแขกเมืองหรือแขกสำคัญๆ ซึ่งเป็นแขกที่มีเกียรติหรือแขกผู้ใหญ่ที่มาจากต่างถิ่น ชาวอีสานจะมีการจัดต้อนรับโดยจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญ โดยนำใบตองมาเย็บเป็นบายศรีอย่างสวยงามประดับด้วยดอกไม้และเครื่องหอม มีด้ายสายสิญจน์สำหรับผูกข้อมือ ซึ่งจะให้ผู้เฒ่าหรือผู้ทรงคุณวุฒิ วัยวุฒิ เพื่อความเป็นสิริมงคลโดยมีพานบายศรีหรือที่เรียกว่า “ พาขวัญ’’ โดยจะมีพราหมณ์เป็นผู้ทำพิธีเรียกขวัญ ตามท่วงทำนองของชาวบ้านในคำเรียกขวัญนั้นจะมีทั้งคาถาที่เป็นภาษาบาลี และคำเรียกขวัญภาษาถิ่น หรือที่เรียกว่า“ สูตรขวัญ ’’ซึ่งคำว่าสูตรขวัญนั้นยากแก่การเข้าใจของผู้มาเยือน จึงมีการจัดทำชุดรำบายศรีขึ้นเพื่อให้คนต่างถิ่นได้เข้าใจเพราะมีคำร้องที่เป็นภาษาที่เข้าใจง่าย เนื้อร้องแต่งโดยอาจารย์ดำเกิง ไกรสรกุล ซึ่งในปัจจุบัน ก็ยังเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ แต่เนื้อร้องอาจจะผิดเพี้ยน จากเดิมไปบ้าง

เครื่องดนตรี
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบในการแสดงชุด “ รำบายศรีสู่ขวัญ ” ใช้วงดนตรีพื้นบ้าน วงโปงลาง มีเครื่องดนตรีดังนี้โปงลาง กลองยาว กลองใหญ่ ไหซอง พิณ เบส แคน โหวด ฉาบเล็ก ฉาบใหญ่ เกราะ

การแสดง
ใช้ผู้หญิงแสดงล้วน
โอกาสที่ใช้แสดง ใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญ ในการต้อนรับครั้งสำคัญๆ ปัจจุบันอาจใช้ในงาน
รื่นเริงและงานเบ็ดเตล็ดทั่วไป

การแต่งกาย สวมเสื้อคอตั้งแขนยาวจรดข้อมือ ห่มสไบขิด และนุ่งผ้าซิ่นคลุมเข่า ผมเกล้ามวยติดดอกไม้ ด้านซ้าย สวมเครื่องประดับเงินตกแต่งให้สวยงาม

บทร้องเพลงบายศรีสู่ขวัญ

ผู้แต่งเนื้อร้อง อาจารย์ดำเกิง ไกรสรกุล

มาเถิดเย้อ มาเย้อขวัญเอย มาเย้อขวัญเอย
หมู่ชาวเมืองมา เบื้องขวานั่งส่ายลาย เบื้องซ้ายนั่งเป็นแถว
ยอพาขวัญอันเพริศแพร้ว ขวัญมาแล้ว มาสู่คิงกม
เกศเจ้าหอมลอยลม ทัดเอื้องชวนชมเก็บเอาไว้บูชา
ยามฝนพรำเจ้าอย่าแข็ง แดดร้อนแรงเจ้าอย่าครา
อยู่ที่ไหนจงมา รัดด้ายไชยามาคล้องผ้าแพรกระเจา ( ดนตรี )
อย่าเพลินเผลอ มาเย้อขวัญเอย มาเย้อขวัญเอย
อยู่แดนดินใด ฤาฟ้าฟากใด ขอให้มาเฮือนเฮา
เพื่อนอย่าคิดอะไรสู่เขา ขออย่าเว้าขวัญเจ้าจะตรม
หมอกน้ำค้างพร่างพรม ขวัญอย่าเพลินชมป่าเขาลำนำไพร
เชิญไหลทาประทินกลิ่นหอม ดมพยอมให้ชื่นใจ
เหล่าข้าน้อยแต่งไว้ ร้อยพวงมาลัยจะคล้องให้สวยรวย

ความหมายของเพลง
ขอเชิญพวกเรา มาร่วมพิธีบายศรีสู่ขวัญ เพื่อเรียกขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัว
โดย ใช้ด้ายศิริมงคลผูกแขน ตามประเพณีท้องถิ่น